The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes ภาพยนตร์พรีเควลของแฟรนไชส์เดอะฮังเกอร์เกมส์ พาเราย้อนกลับไป 64 ปีก่อนเหตุการณ์ในไตรภาคหลัก เพื่อติดตามเรื่องราวของ คอริโอเลนัส สโนว์ ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี
จุดเด่นของภาพยนตร์:
- การแสดงของทอม บลายธ์: ถ่ายทอดตัวละครสโนว์ในวัยหนุ่มได้อย่างน่าประทับใจ แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน ความเฉลียวฉลาด และความเปราะบาง
- การเล่าเรื่อง: น่าติดตาม ลุ้นระทึก เต็มไปด้วยความพลิกผัน
- งานสร้าง: ฉาก โปรดักชัน และคอสตูม สวยงาม อลังการ สื่อถึงบรรยากาศของโลกเดอะฮังเกอร์เกมส์ได้เป็นอย่างดี
- ประเด็นทางสังคม: ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคม เช่น ความอยุติธรรม ชนชั้น และอำนาจ
ข้อด้อยของภาพยนตร์:
- ตัวละครบางตัวมีบทบาทน้อย: ยังมีตัวละครที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ถูกขยายความมากนัก
- ความโหดร้าย: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากความรุนแรงอยู่บ้าง อาจจะไม่เหมาะกับผู้ชมที่อายุน้อย
โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์ The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes เป็นภาพยนตร์พรีเควลที่น่าประทับใจ ตอบคำถามหลายๆ ข้อเกี่ยวกับตัวละครสโนว์ และสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนๆ เดอะฮังเกอร์เกมส์
คะแนน: 8/10
ความคิดเห็นเพิ่มเติม:
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน เขียนโดย Suzanne Collins
- ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย Francis Lawrence ผู้กำกับ 3 ภาคสุดท้ายของเดอะฮังเกอร์เกมส์
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในไทยวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
‘The Hunger Games’เป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเยาวชนเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในขณะที่อีกหลายเรื่องกลับแป้กตั้งแต่ภาค 1 ภาค 2 แต่ ‘The Hunger Games’ เป็นน้อยเรื่องที่กลายเป็นหนังฮิตและทำกำไรให้กับ Lionsgate ได้มหาศาล หนัง 4 ภาคจากนิยาย 3 เล่มทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 2,955 ล้านเหรียญ เมื่อนิยายฮิตเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวผู้ประพันธ์อย่าง ซูซาน คอลลินส์ (Suzanne Collins) ก็ยังต้องเขียนนิยายภาคต่อออกมา หลังจบไตรภาคแรกไปในปี 2010 เว้นว่างไปถึง 10 ปี คอลลินส์ก็ปล่อย ‘The Ballad of Songbirds and Snakes’ เป็นเรื่องราวภาคก่อนหน้า ที่ย้อนไปเล่าประวัติของ คอริโอเลนัส สโนว์ ว่าเพราะเหตุใด ทำไมเขาถึงได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีจอมโฉดแห่งพาเน็มไปได้ แน่นอนว่าหลังจากนิยายคลอดออกมา Liongsgate เจ้าเดิมก็รีบซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทันที และออกฉายภายใน 3 ปี หลังจากที่นิยายวางแผง
หนังได้ ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (Francis Lawrence) ผู้กำกับจาก 3 ภาคล่าสุดกลับมารับหน้าที่ แต่เปลี่ยนมือเขียนบทมาเป็น ไมเคิล อานดต์ (Michael Arndt) จาก ‘Toy Story 3’และ ‘Star Wars: The Force Awakens’ และนักเขียนอังกฤษหน้าใหม่ ไมเคิล เลสลี (Michael Lesslie) จาก ‘Assassin’s Creed’ หนังพาเราย้อนกลับไป 64 ก่อนเหตุการณ์ใน ‘The Hunger Games’ ภาคแรก หนังถูกแบ่งย่อยออกมาเป็น 3 พาร์ต พาร์ตแรกเป็นการแนะนำตัวตนของ คอริโอเลนัส สโนว์ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยที่ต้องสูญเสียพ่อและแม่และต้องไปอาศัยอยู่กับย่าและญาติสาวผู้พี่ หนังตัดฉับมาเป็นสโนว์ในวัย 18 ปีที่กำลังจะเรียนจบ แต่นักศึกษาปีสุดท้ายต้องผ่านภารกิจก่อนจบการศึกษานั่นคือการเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับบรรณาการหรือผู้ลงแข่งขัน ‘เกมล่าชีวิต’ จากเขตต่าง ๆ ซึ่งแน่ล่ะว่า สโนว์นั้นได้จับคู่กับ ลูซีย์ เกรย์ แบร์ด สาวผู้มีเสียงอันไพเราะจากเขต 12 ด้วยเหตุว่านี่คือภาคที่ 5 แล้วของแฟรนไชส์ และตั้งใจขายแฟนเก่าของแฟรนไชส์นี้เป็นหลัก หนังจึงไม่มีการย้อนเล่าที่มาที่ไปและกติกาของ ‘เกมล่าชีวิต’ แต่อย่างใด ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนสักภาค ควรจะทำการบ้านก่อนดูครับ
พาร์ตแรกนี้แนะนำตัวละครสำคัญเข้ามา 3 คน คือ เซจานุส พลินต์ รับบทโดย จอช แอนเดรีย ริเวรา (Josh Andrés Rivera) บุตรชายของมหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลแห่งพาเน็ม เป็นเพื่อนสนิทของสโนว์ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสภาพจิตทำให้สโนว์เปลี่ยนไป
ดร.โวลัมเนีย กอล รับบทโดย ไวโอลา เดวิส (Viola Davis)นักแสดงดีกรี 1 ออสการ์ เธอเป็นผู้คุมเกมในภาคนี้ นั่นคือผู้มีสิทธิ์ขาดในการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงกติกาของเกม กอลค่อนข้างเอ็นดูสโนว์เป็นพิเศษ ตามรูปแบบของหนัง ‘The Hunger Games’นั้น มีความเป็นแฟนตาซีอยู่พอควร ตัวละครในเรื่องจะแต่งหน้าแต่งตัวที่ประหลาดหลุดโลก แต่สำหรับกอลนั้น การแต่งหน้าให้เธอก็ดูแปลกแต่ออกไปทางน่ากลัว ทั้งการเลือกใส่คอนแทกต์เลนส์สีฟ้าข้างเดียว และทาปากแดงตัดขอบปากให้ตัดกับสีผิวแบบลอยเด่น โผล่มาทีไรได้อารมณ์เหมือนดูหนังสยองขวัญทุกครั้งไป ฝ่ายเมกอัปใจร้ายกับเธอมาก
และอีกตัวละครสำคัญก็คือ ครูใหญ่ คาสคา ไฮบอตทอม บทบาทของ ปีเตอร์ ดิงค์เลก (Peter Dinklage) เป็นวายร้ายของภาคนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นตัวละครที่จงเกลียดจงชังสโนว์คอยขัดแข้งขัดขากลั่นแกล้งทุกวิถีทางไม่ให้สโนว์ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังดีที่หนังยังมีบทเฉลยให้เราได้รับรู้ถึงสาเหตุของความเกลียดชังนี้
พาร์ตที่ 2 คือพาร์ตของการแข่งขัน ‘เกมล่าชีวิต’ ด้วยเหตุที่ว่านี่คือการแข่งขันครั้งที่ 10 ยังไม่มีเทคโนโลยีมาประกอบการแข่งขันมากมายนัก การแข่งขันครั้งนี้จึงถูกจัดในสนามกีฬา และมีผู้แข่งขันเสียชีวิตไปก่อนจะถึงวันแข่งหลายราย จึงเหลือผู้แข่งขันแค่สิบกว่าคน และการแข่งขันก็จบภายในเวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ส่วนใครคือผู้ชนะนั้นเราก็รู้กันอยู่แล้ว แค่ดูกันว่าหนังจะเขียนให้เธอชนะมาได้อย่างไรเท่านั้น
พาร์ตที่ 3 เป็นพาร์ตที่สำคัญที่สุดกับโจทย์ตั้งต้นว่า สโนว์ที่เราได้รู้จักมาค่อนเรื่องนั้น เป็นเด็กหนุ่มที่จิตใจดี อ่อนไหว มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แล้วเหตุใดเขาผู้นี้ถึงได้เติบโตไปเป็นประธานาธิบดีจอมโหดของพาเน็มไปได้ ในพาร์ตนี้เราได้เห็นสโนว์เผชิญสถานการณ์บีบคั้นจากรอบด้าน ทั้งระบบระเบียบทหารของพาเน็มที่เข้มงวด เพื่อนรักที่หักหลัง และการอยากช่วยคนรักบีบให้เขาต้องลงมือกระทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่งผลให้เขากลายเป็นคนที่จิตใจหยาบกร้านขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว
อันดับแรกต้องเตือนผู้อ่านที่สนใจจะไปดูก่อนเลยว่า อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นฉากลุ้นระทึกฆ่ากันดุเดือดในเกมล่าชีวิต แม้ว่าภาคก่อนหน้ารวมถึงภาคนี้ก็ยังคง Rate PG-13 ไว้เช่นเคย แต่ว่าภาคนี้เปลี่ยนบรรยากาศเนื้อหาไปอย่างมาก เพราะหนังถูกเล่าจากมุมมองของ ‘ที่ปรึกษา’ ซื่งก็คือตัว คอริโอเลนัส สโนว์ ตัวเอกของเรื่องในภาคนี้ จึงเป็นการมองเข้าไปในเกม ไม่ใช่เป็นการเดินเรื่องอยู่ภายในเกมอย่างในยุคของแคตนิส บทบาทของเกมถูกลดความสำคัญลงเหลือเพียงแค่พาร์ตหนึ่งของหนัง และแม้ว่าเนื้อหาจะรุนแรงพูดถึงเรื่องการฆ่ากันอย่างป่าเถื่อน แต่หนังก็ยังคงมาตรฐานเดิมที่เราเห็นฉากฆ่ากัน แต่ก็ตัดภาพฉับอยู่เสมอ ไม่มีภาพรุนแรงให้ได้เห็น และเป็นภาคที่เลือดน้อยมาก ไม่มีการลงลึกถึงผู้แข่งขันรายอื่น ๆ เหมือนอย่างภาคก่อนหน้า เหตุเพราะเกมล่าชีวิตในภาคนี้มาไวไปไว เน้นหนักในการเล่าเรื่องราวของสโนว์เสียมากกว่า พาร์ตเกมจึงเป็นแค่เหตุการณ์ที่กระชับให้สโนว์และลูซีเกิดความผูกพันมากขึ้น
พาร์ตที่ 3 เป็นพาร์ตที่ยาวที่สุดและเป็นพาร์ตที่สำคัญที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของสโนว์ เป็นเหตุการณ์หลังเกม เหมือนเลิฟสตอรี่ที่ชวนให้คนดูลุ้นไปกับความสัมพันธ์ของสโนว์และลูซีที่ดำเนินไปบนอุปสรรคนานับ เป็นรักท่ามกลางวิกฤตการณ์ ก็ชวนให้ลุ้นกันไปว่าความรักทั้งคู่จะลงเอยเช่นไร
ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 37 นาที ทำให้ ‘The Ballad of Songbirds and Snakes’ เป็นภาคที่ยาวที่สุดแล้วในแฟรนไชส์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาคที่เนื้อหาเบาที่สุดอีกด้วย จุดเปลี่ยนหนัก ๆ ก็คือหลังจบเกมแล้วเข้าสู่พาร์ตที่ 3 เมื่อเราได้รู้ตัวผู้ชนะแล้ว เริ่มเดาทางไม่ถูกแล้วว่าหนังจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน แต่ก็เดินไปบนเส้นเรื่องที่มีแรงขับน้อยมาก เพราะเกมจบแล้ว ตัวละครไม่ได้ตกอยู่ในวิกฤติและไม่มีปริศนาที่รอการคลี่คลาย ในพาร์ตนี้มีเหตุการณ์พลิกผันพอควรชวนให้ระทึกครับ และสมเหตุสมผลที่จะส่งให้สโนว์กลายเป็นคนจิตใจหยาบกร้านขึ้น แต่ก็เป็นพาร์ตที่ยาวที่สุด ยอมรับว่าพอถึงพาร์ตนี้ตัวผมก็เริ่มดูนาฬิกาเป็นพัก ๆ แล้ว
จุดที่อยากชื่นชมในเรื่องนี้ คืองานแคสติ้ง การเลือก ทอม ไบลธ์ (Tom Blyth) มาเป็น คอริโอไลนัส สโนว์ ในวัยหนุ่มนั้นดูใช่มาก พอจับมาย้อมผมบลอนด์สว่าง บวกกับรูปหน้าที่มีความละม้ายกับ โดนัลด์ ซูเธอร์แลนด์ ผู้รับบท คอริโอไลนัส สโนว์ ในวัยชรา พอเห็นแล้วก็รู้เลยว่าคนนี้ล่ะ ใช่เลย รวมถึงไปถึงหนูน้อย เด็กซ์เตอร์ ซอล อันเซล ที่รับบทสโนว์วัยเด็ก ก็มาพร้อมกับเอกลักษณ์ผมบลอนด์ชัดเจน ทำให้เราเห็นก็รู้เลยว่าหนูน้อยคนนี้คือใคร โดยไม่ต้องมีคำบรรยายประกอบ
หลังจากที่หนังเริ่มแนะนำตัว ลูซีย์ เกรย์ แบร์ด ว่าเสน่ห์ของเธอคือเสียงร้อง และตัวละครของเธอนี่ล่ะ คือคำว่า “Songbird” ในชื่อหนัง ก็ทำให้เข้าใจได้เลยว่าทำไมทีมผู้สร้างถึงเลือก ราเชล เซเกลอร์ (Rachel Zegler) มารับบทนี้ เป็นบทที่เปิดโอกาสให้เธอได้โชว์ความสามารถด้านร้องเพลงอย่างมาก เธอได้ร้องหลายเพลง ยอมรับเลยครับว่าเซเกลอร์คือไม่ใช่แค่นักแสดง แต่ความสามารถในการร้องเพลงของเธอคือระดับดิวาเลย ตัวผู้กำกับลอว์เรนซ์ก็ดูจะตั้งใจขายเธออย่างมาก หลาย ๆ ฉากที่กล้องโคสลอัปเต็มหน้าเธอ พูดได้เลยว่า ‘The Ballad of Songbirds and Snakes’คือก้าวสำคัญที่มีผลต่ออาชีพนักแสดงของเธอมาก หลังจากมีหนังคว่ำติดต่อกันมาแล้ว 2 เรื่อง ‘West Side Story’ (2021) และ ‘Shazam! Fury of the Gods'(2023) ถ้าเรื่องนี้คว่ำอีกก็คงต้องหันไปร้องเพลงอย่างจริงจังล่ะ เพราะ ‘Snow White’ นี่กว่าจะได้ฉายก็รอไป 2025 นู่น
ด้วยความที่ ลูซี เกรย์ ไม่ใช่สาวสายบู๊ ก็เลยเป็นดาบสองคม ด้านลบก็คือ เราได้รับรู้ว่าเธอไม่ได้เก่งอะไรเลย ซึ่งมันพลิกขนบของหนังที่เน้นขายฉากต่อสู้ในเกมอย่างมาก ไม่มีอะไรให้ลุ้นเลยว่าการมีพลังด้านเสียงร้องจะเอาไปต่อสู้ในเกมฆ่ากันแบบนี้ได้อย่างไร ด้านบวกก็คือ ภาระทั้งหมดตกไปอยู่กับสโนว์ ในฐานะพี่เลี้ยง เขาเป็นผู้ที่มีแรงบันดาลใจอยากชนะเกมนี้เพราะต้องการเงินรางวัลอย่างมาก เขาจึงต้องใช้มันสมองขบคิดวิธีการที่จะให้หมากของเขาที่ด้อยกว่าคู่แข่งอื่น ให้พลิกเอาชนะมาได้อย่างไร กลเม็ดเด็ดพรายของสโนว์ในเกมนี้ล่ะ นับว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดของเรื่องแล้วครับ
ด้วยความที่หนังยาวมาก แต่เป็นภาคที่มีฉากสนทนามากกว่าฉากแอ็กชันแบบนี้ ไลออนส์เกตก็น่าจะตระหนักดีอยู่แล้วว่าหนังไม่น่าจะทำตัวเลขได้เทียบเท่ากับ 4 ภาคก่อนหน้า ถึงลดงบการสร้างลงมาที่ 100 ล้านเหรียญถ้วน หนังก็เลยไม่มีดาราแม่เหล็กมาเรียกความสนใจผู้ชม ตัวหนังเองก็ไม่มีฉากอลังการน่าตื่นตาแต่อย่างใด ดูจอเล็กก็ไม่ขาดอรรถรสเท่าใดนัก เหมาะสำหรับแฟน ๆ เดนตายของแฟรนไชส์นี้เท่านั้น ที่ยังคิดถึงบรรยากาศเมืองพาเน็ม และอยากลงลึกถึงความเป็นมาของ ประธานาธิบดีสโนว์ ตัวร้ายหลักของเรื่องว่าเป็นมาอย่างไร
หนังจบตามหนังสือนิยายครับ สมบูรณ์ ครบถ้วนในภาคเดียว นอกเสียจากหนังจะพลิกคาดทำเงินแบบถล่มทลายนั่นล่ะ ไลออนส์เกตก็คงซื้อลิขสิทธิ์มาเขียนภาคต่อเอง แบบไม่รอ ซูซาน คอลลินส์ เจ้าของบทประพันธ์
Leave a Reply