Wonka ภาพยนตร์แฟนตาซีที่พาเราย้อนกลับไปสัมผัสเรื่องราวต้นกำเนิดของ วิลลี่ วองก้า ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันที่จะสร้างอาณาจักรช็อกโกแลตสุดมหัศจรรย์ นำแสดงโดย ทิโมธี ชาลาเมต์
จุดเด่นของภาพยนตร์:
- การแสดงของทิโมธี ชาลาเมต์: เขาถ่ายทอดเสน่ห์ของวองก้าได้อย่างลงตัว ทั้งความทะเยอทะยาน ความขี้เล่น และความลึกลับ
- งานสร้างที่สวยงาม: ฉาก โปรดักชัน และคอสตูม ล้วนสร้างออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
- เพลง: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบมากมาย เสียงเพลงไพเราะ สนุกสนาน และช่วยขับเคลื่อนอารมณ์ของภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี
- ความอบอุ่นหัวใจ: ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับความฝัน มิตรภาพ และครอบครัว
ข้อด้อยของภาพยนตร์:
- เนื้อเรื่องค่อนข้างเรียบง่าย: เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย แต่สำหรับผู้ชมที่ต้องการความเข้มข้น อาจจะรู้สึกผิดหวัง
- ตัวละครบางตัวมีบทบาทน้อย: ยังมีตัวละครที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ถูกขยายความมากนัก
ความคิดเห็นเพิ่มเติม:
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ตีความตัวละครวองก้าในแบบฉบับของตัวเอง อาจจะแตกต่างจากในหนังสือ Charlie and the Chocolate Factory บ้าง
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากหลังในช่วงปี 1960s แฟชั่นและดนตรีในภาพยนตร์จึงสะท้อนให้เห็นถึงยุคนั้นนับตั้งแต่ที่เรื่องราวและชื่อเสียงของนักทำขนมและช็อกโกแลตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล วิลลี่ วองก้า เป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก ผ่านเรื่องราวทั้งในรูปแบบหนังสือ โดย โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ที่ตีพิมพ์ในปี 1964 และกระโดดมาโลดแล่นในรูปแบบภาพยนตร์ ทั้งเวอร์ชันมิวสิคัลคลาสสิก ‘Willy Wonka & the Chocolate Factory’ (1971) ที่นำแสดงโดย จีน ไวล์เดอร์ (Gene Wilder) และเวอร์ชัน ‘Charlie and the Chocolate Factory’ (2005) วิลลี่ วองก้า สไตล์หลุดโลกฉบับ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) แสดงนำโดย จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp)
แต่เอาจริง ๆ นอกจากเรื่องราวของน้อง ชาร์ลี บักเก็ต เด็กชายยากจนเจ้าของตั๋วทองคำใบสุดท้าย ก็แทบไม่เคยมีใครได้ล่วงรู้จุดกำเนิดของ วิลลี่ วองก้า สักเท่าไหร่ ตรงนี้แหละคือวัตถุดิบตั้งต้นที่นำไปสู่เรื่องราวเบื้องหลังชีวิตของนายวิลลี่วัยหนุ่ม ผู้มีใจรักในช็อกโกแลต กับการฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย จนกระทั่งนำไปสู่การก่อกำเนิดโรงงานช็อกโกแลตสุดมหัศจรรย์พันลึกในหนังเรื่อง ‘Wonka’ เรื่องนี้นี่แหละ
โดยเรื่องราวใหม่ของ วิลลี่ วองก้า เรื่องนี้ ได้ พอล คิง (Paul King) มานั่งแท่นผู้กำกับ และเขียนบทร่วมกับ ไซมอน ฟาร์นาบี (Simon Farnaby) จากผลงานหนังเด็กสุดน่ารัก ‘Paddington’ (2014) และ ‘Paddington 2’ (2017) และด้วยความที่หนังเรื่องนี้มาในรูปแบบมิวสิคัล ก็เลยได้ นีล แฮนนอน (Neil Hannon) ฟรอนต์แมนของวงดนตรีแชมเบอร์ป๊อป ‘The Divine Comedy’ มาร่วมประพันธ์เนื้อเพลง และได้ โจบี ทัลบอต (Joby Talbot) จากแอนิเมชัน ‘Sing’ ทำหน้าที่ประพันธ์สกอร์ให้ครับ
เรื่องราวใน ‘Wonka’ เริ่มต้นเล่าตั้งแต่ตอนที่ วิลลี่ วองก้า (ทิโมธี ชาลาเมต์ – Timothée Chalamet) ได้เดินทางเข้ามายังในเมืองเพื่อตามหาความใฝ่ฝันในการขายช็อกโกแลต แต่เขาต้องพบกับเรื่องร้าย เพราะในเมืองนั้นมีผู้ค้าช็อกโกแลตอยู่แล้วถึง 3 ราย ได้แก่ อาเธอร์ สลักเวิร์ธ (แพตเตอร์สัน โจเซฟ – Paterson Joseph), พร็อดโนส (แมตต์ ลูคัส – Matt Lucas) และ ฟิกเกิลกรูเบอร์ (แมทธิว เบย์นัน – Mathew Baynton) ต้องเจอการไล่จับตัวของ ผู้บัญชาการตำรวจ (คีแกน-ไมเคิล คีย์ – Keegan-Michael Key) แถมระหว่างทางก็ยังมี ลอฟตี / อูมปา-ลูมปา (ฮิว แกรนต์ – Hugh Grant) มาตามขโมยช็อกโกแลตอีก โชคดีที่เขาได้เจอกับ นูดเดิล (คาราห์ เลน – Calah Lane) เด็กหญิงตัวน้อยที่คอยช่วยเหลือ เพื่อทำให้ฝันของวองก้ากลายเป็นจริง
ด้วยความที่ว่าหนังเรื่องนี้เป็น Prequel หรือเรื่องราวภาคต้นจาก ‘Charlie and the Chocolate Factory’ แต่เอาจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียวครับ แต่เป็นภาคต้นที่มีความเป็นกึ่ง ๆ รีบูตนิดหน่อยมากกว่า เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับเวอร์ชันไหนเสียทีเดียว จะดูเวอร์ชันก่อน ๆ ก็ถือว่าดีครับ แต่ถ้าไม่เคยดูมาเลย มาดูภาคนี้ก็ยังไม่ถึงกับงง และแม้หนังเรื่องนี้ กับเวอร์ชันป๋าเดปป์ จะมาจากสตูดิโอ Warner Bros. เหมือนกัน แต่งานโปรดักชันดีไซน์ และ Easter Egg บางจุด กลับชวนให้นึกถึงเวอร์ชันของ จีน ไวล์เดอร์ มากกว่าตัวเรื่องเปิดมาเรียกว่าเข้าเรื่องเร็วเลยครับ แถมมาแบบมิวสิคัลด้วย และมันดีตรงที่เพลงนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นองก์แรก ที่ทำให้เราได้รู้จัก วิลลี่ วองก้า ในระดับหนึ่งว่าจริง ๆ แล้วเขาเองก็เป็นไอ้หนุ่มบ้านนอกที่มีความ Underdog ไปในตัว ซึ่งแม้ว่าทรงหนังจะมีความเป็นหนังเด็ก และหนังมิวสิคัลที่บางคนอาจจะไม่ถนัด แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้น่าสนใจก็คือ การลดทอนความหรูหราบางอย่างลงไป มิวสิคัลในหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้เน้นเวอร์วังอลังการ แต่เหมือนใช้ขับเน้นการเล่าเรื่องมากกว่า
ซึ่งในองก์แรก เราก็จะได้รู้เรื่องของ วิลลี่ วองก้า ในฐานะของคนตัวเล็ก ๆ มีพรสวรรค์ ที่ต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ โดนกลั่นแกล้ง โดนไล่ที่ ตำรวจก็ตามรังควาน แถมยังต้องเจอกับคนใจร้ายอีก ยิ่งสู้ก็ยิ่งแพ้ ยิ่งแพ้ก็ยิ่งสู้ ซึ่งจะว่าไป ผู้เขียนแอบรู้สึกเชื่อมโยงนิด ๆ ว่าที่ตอนท้าย วิลลี่ วองก้า ตัดสินใจมอบกิจการโรงงานช็อกโกแลตให้น้องชาร์ลี (ใน ‘Charlie and the Chocolate Factory’) น่ะ อาจเป็นเพราะว่าตัวของ วิลลี่ วองก้า ก่อนจะมีโรงงาน ตัวเขาเองก็เคยเป็น Underdog ที่มีแค่ตัวกับหัวใจ แบบเดียวกับที่น้องชาร์ลีเป็นก็ได้นะ
แต่แม้ว่าจะมีความเป็นหนังเด็ก มีมุกฮาที่เด็กและผู้ใหญ่ดูแล้วหัวเราะเอิ๊กอ๊ากได้ มีมิวสิคัลไพเราะที่ดูแล้วใจฟู มีเรื่องราวน่ารัก ๆ ที่ตัดสลับหักมุมได้อย่างน่าติดตาม แต่อย่าไปคิดว่าเป็นหนังเฉพาะเด็กเชียวนะครับ เพราะตัวหนังยังสอดแทรกประเด็นเข้ม ๆ ภายใต้เปลือกของวรรณกรรมเยาวชนน่ารักไร้เดียงสา ตามแบบฉบับของ โรอัลด์ ดาห์ล เอาไว้ด้วย ก็เลยทำให้พล็อตเรื่องมีความเข้ม ๆ ขม ๆ บางอย่าง ทั้งการจิกกัดระบบทุนนิยม การทุจริตคอรัปชัน หรือแม้แต่การสะท้อนภาพความเน่าในที่ชอนไชอยู่ในระบบอำนาจชั้นสูง ที่ทำออกมาได้เห็นภาพชัดมาก ชัดชนิดที่ดูจบแล้ว เอาไปคุยไปสอนลูกหลานต่อได้เลยนะ
ในครึ่งแรก ตัวหนังมีความเป็นหนังผจญภัย หนังแนว Underdog มีความเป็นวัยรุ่นพันล้านที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคเพียงเพื่อจะขายช็อกโกแลตให้ได้สักชิ้น ซึ่งอุปสรรคก็มีตั้งแต่โดนไล่ที่ โดนกลั่นแกล้ง ถึงขั้นหวังผลเอาชีวิตก็มี จนครึ่งหลัง ตัวหนังก็สอดแทรกความเป็นหนังจารกรรมเอาไว้แบบบาง ๆ ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาแบบหนังผู้ใหญ่ มันก็อาจจะมีความเป็นสูตรสำเร็จที่เบาบาง และมีการคลายปมที่ใช้ความบังเอิญ ความขี้โกงตามสไตล์ วิลลี่ วองก้า ไปสักหน่อย แต่ถ้ามองผ่านเลนส์ของหนังเด็ก และแฟนตาซี หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าทำออกมาได้สนุกเพลิดเพลิน และน่าคล้อยตามจนไม่ต้องมานั่งงมหาตรรกะอะไรอีกแล้วล่ะ
ส่วนในด้านของการแสดง ก็ต้องบอกว่า ผู้กำกับ พอล คิง คิดถูกอย่างมาก ๆ ครับ ที่เลือก ทิโมธี ชาลาเมต์ มารับบท เพราะไม่ใช่แค่เพียงแสดงดี ร้องดีเท่านั้น แต่เรียกได้ว่าทิมมีคือวองก้า และแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของหนัง อันนี้ก็ต้องชื่นชมครับว่า คาแรกเตอร์ของ วิลลี่ วองก้า เวอร์ชันนี้แทบจะไม่ผูกพันกับหนังเวอร์ชันไหนเลย แต่เป็น วิลลี่ วองก้า เวอร์ชันไอ้หนุ่มใสซื่อที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจได้ตลอดทั้งเรื่องจริง ๆ รวมถึงนักแสดงทุก ๆ คนที่ถือว่ารับบทกันได้เป็นอย่างดี อีกคนที่อยากพูดถึงก็คือ ฮิว แกรนต์ ที่แม้จะโผล่มาไม่เยอะ แต่กลับขโมยซีนได้ร้ายกาจมาก แถมความหน้าตายของพี่แกยังเข้ากับคาแรกเตอร์ อูมปา-ลูมปา ได้เข้ากันอย่างน่าประหลาดดีแท้
ไม่รู้ใครจะรู้สึกแบบเดียวกับผู้เขียนไหม แต่การได้ยิน “Pure Imagination” เพลงประกอบที่เคยใช้ในเวอร์ชัน จีน ไวล์เดอร์ ที่คราวนี้ ทิมมีนำมาขับร้องใหม่ได้อย่างถูกสถานการณ์ ถูกจังหวะ คือไม่ใช่แค่พูดถึงโรงงานช็อกโกแลตของตัวเองเหมือนในเวอร์ชันก่อน ๆ แต่กลับนำมาใช้สื่อสารประเด็นง่าย ๆ ในหนังได้อย่างทรงพลัง กลับทำให้ผู้เขียนถึงกับน้ำตาไหลป้อย ๆ ไปเลย แล้วก็มีหลายฉากที่ผู้เขียนเชื่อว่า อาจมีหลายคนที่อิ่มเอมจนน้ำตาซึมได้จริง ๆ นะ
หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นหนังที่เหมาะแก่การใฝ่หาสิ่งแปลกใหม่อลังการ แต่ไม่น่าเชื่อว่า เป็นหนังที่สามารถปลอบประโลม โอบอุ้มเราด้วยความดีงาม ป้อนช็อกโกแลตที่มีฤทธิ์ชวนให้คิดบวกแบบไม่จอมปลอม ไม่ยัดเยียด นี่คือช็อกโกแลตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรสชาติหวานนิดขมหน่อย แต่อร่อยกินได้ไม่รู้เบื่อ และเหมาะสมที่จะเป็นหนังที่เหมาะกับจังหวะส่งท้ายปีที่อาจทำให้ใครหลายคนฮา อมยิ้ม หลั่งน้ำตาด้วยความอิ่มเอม และเดินออกมาจากโรงหนังแบบรู้สึกเหมือนตัวเบา ราวกับได้ลิ้มรสช็อกโกแลตบินได้ของ วิลลี่ วองก้า ก็มิปาน
โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์ Wonka เป็นภาพยนตร์แฟนตาซีที่สนุกสนาน อบอุ่นหัวใจ และสร้างแรงบันดาลใจ เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย
Leave a Reply